เมื่อเริ่มธุรกิจรายรับที่ได้มาก็ไม่มากผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ จึงมักไม่ค่อยคิดถึงเรื่องภาษี แต่เมื่อธุรกิจเริ่มเจริญเติบโตเริ่มมีรายรับมากขึ้นมัวแต่ทำธุรกิจเพลินไป หลายคนไม่เคยนึกเอะใจว่าต้องเสียภาษีหรือไม่ หลายคนเอะใจว่าควรต้องเสียภาษีเพราะมีรายรับมากขึ้นโดยความรู้สึกพื้นๆ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่จะเริ่มต้นอย่างไร บางทีก็นึกไม่ออกก็เลยไม่เสียเลย ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อมีรายรับก็มีภาระภาษีตาม ส่วนจะต้องเสียหรือไม่เสีย หรือได้รับยกเว้นแค่ไหนเพียงใด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จริงๆ แล้วภาษีสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับรายรับที่ได้มาหลักๆ แล้ว ก็มีภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วแต่ว่าทำกิจการที่ต้องเสียภาษีใดสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผู้ประกอบการก็ควรจะทราบว่าตนเองจะต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ มีจุดที่สังเกตได้ดังนี้
1. เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจให้ครวจสอบดูว่า ทำธุรกิจประเภทใดเนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ซึ่งความหมายของคำที่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีความหมายดังนี้
คำว่า “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใดๆ รวมทั้งสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า (มาตรา 77/1 (9) )
คำว่า ”ขาย” หมายความว่า การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าไม่ว่าจะได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง...(มาตรา77/1(8) )
คำว่า ”บริการ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าโดยมิใช่การขายสินค้า และให้หมายความรวมถึง... (มาตรา 77/1 (9) )
ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีการขายสินค้า หรือให้บริการต้องทราบตนเองว่ากำลังประกอบกิจการที่อยู่ในกิจการที่อยู่ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตัวอย่าง
นาย ก. เปิดร้านขายของชำ ในร้านมีการขายสินค้าจำพวก ยาสีฟัน สบู่ ขนมขบเคี้ยว ท็อฟฟี่ เครื่องใช้ในบ้าน ผงซักฟอก ไม้จิ้มฟัน ไม้ขีด ฯลฯ สินค้าทั้งหลายที่กล่าวมาล้วนแต่เป็น “สินค้า” ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายสินค้าดังกล่าวจึงเป็นการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
นาย ข. เปิดร้านอาหาร มีโต๊ะให้แขกเข้ามารับประทานอาหาร มีคาราโอเกะ เกมออนไลน์ ฯลฯ นาย ข. ประกอบกิจการให้บริการซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
สรุป ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีการขายสินค้า หรือให้บริการเพื่อหารายได้ ก็ล้วนแต่ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกือบทั้งนั้น
2. เมื่อทราบแล้วว่าประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการตาม 1 แล้ว ก็ต้องตรวจสอบต่อไปว่า การขายสินค้าหรือให้บริการที่ประกอบการนั้น เป็นการขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ถ้าได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเอามาเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ ไม่ต้องมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพาการ สำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นนั้น (และก็ไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ)
การขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏรายละเอียดตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎกร ซึ่งสรุปแล้วมีดังนี้
- การขายพืชผลทางการเกษตร
- การขายสัตว์ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม
- การขายปุ๋ย
- การขายปลาป่น อาหารสัตว์
- การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์
- การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
- การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษา
- การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรม
- การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี หรือการว่าความ
- การให้บริการวิจัย หรือการให้บริการทางวิชาการ (มีเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสสรพากรกำหนด)
- การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
- การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน
- การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
- การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ (มีเงื่อนที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด)
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
- การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล
- การให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์
- การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น
- การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
- การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
การขายสินค้าหรือการให้บริการทั้ง 20 กรณีตามที่กล่าวข้างต้นได้รับยกว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการไม่ต้องนำรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะมีรายรับเท่าใดก็ตาม
ตัวอย่าง
บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการการขายสินค้า 5 ชนิดดังนี้
- ขายข้าวสารในประเทศ มีรายรับ 20 ล้านบาท/ปี
- ขายผลไม้สดส่งทั่วประเทศ มีรายรับ 5 ล้านบาท/ปี
- ขายเนื้อสัตว์ในประเทศ มีรายรับ 10 ล้านบาท/ปี
- ให้เช่าที่ดิน มีรายรับ 1 ล้านบาท/ปี
- เป็นร้านขายส่งเครื่องใช้สำนักงานต่างๆ มีรายรับ 1 ล้านบาท/ปี
จะเห็นได้ว่าการขายสินค้าและการให้บริการตาม 1 ถึง 4 ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะมีรายรับรวมกันถึง 35 ล้านบาท/ปี บริษัท ก. จำกัด ก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายการทั้ง 4 รายการดังกล่าว ส่วนรายการตาม 5 เป็นการขายสินค้าที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงต้องนำมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แต่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี) ทั้งนี้ สำหรับการขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามรายการ 1 – 5 ต้องเป็นการขายสินค้าในประเทศ ถ้าเป็นการส่งออกสินค้าดังกล่าวจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด แต่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
3. เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบการได้ขายสินค้าหรือให้บริการ ให้นำเฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (อาจจะมีการขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 2. ด้วย แต่เวลาที่นำมาพิจารณาว่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ไม่ต้องนำส่วนที่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาร่วมพิจารณา) มาดูผลประกอบการว่ามีการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวเกิน 1,800,000 บาทต่อปี หรือไม่ ถ้าไม่เกิน 1,8000,000 บาทต่อปี ถือว่าเป็นกิจการขนาดย่อม และจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎกรและตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548
ตัวอย่าง บริษัท ข. จำกัด เพิ่งเริ่มจดทะเบียนตั้งบริษัท ในปี 2553 มีรายรับจากการประกอบกิจการขาย สินค้าในปี 2553 ดังนี้
- ขายเครื่องจักรผลิตสินค้า 500,000 บาท
- ขายข้าวโพดให้แก่ผู้ส่งออก 1,000,000 บาท
- ขายปุ๋ย 2,000,000 บาท
- ให้เช่าอาคาร 1,000,000 บาท
- ขายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ฯลฯ 500,000 บาท
- ขายเสื้อผ้าค้าส่ง 500,000 บาท
จะเห็นได้ว่าบริษัท ข. จำกัด มีรายรับทั้งสิ้น 5,5000,000 บาท แต่สำหรับสินค้าและการให้บริการที่ได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มรายการที่ 2), 3) และ 4) มีรายรับทั้งสิ้น 4,000,000 บาท ส่วนสินค้าที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มคือรายการที่ 1), 5) และ 6) รวมรายรับทั้งสิ้น 1,500,000 บาท ดังนั้น การขายสินค้าสำหรับรายการที่ 1, 5 และ 6 จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีรายรับรวมไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
4. สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการรายใดมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ (ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีมูลค่าของรายรับรวมกันเกิน 1,800,000 บาทต่อปี การขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อ ไปนับตั้งแต่มีรายรับส่วนที่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี
ปัญหาก็คือว่า การมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี โดยข้อเท็จจริงแล้วรายรับส่วนที่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมเกิดขึ้นในระหว่างปีแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเสียอย่างไร กล่าวคือ
- เสียจากรายรับส่วนที่เกิน 1,800,000 บาท
- เสียจากรายรับตั้งแต่ 1 บาทแรกที่เกิดจากการขายสินค้าหรือให้บริการในปีนั้
ในเรื่องดังกล่าว กรมสรรพากรได้มีแนวทางในการจัดเก็บภาษีว่ารายรับส่วนที่ไม่เกิน 1,800,000 บาท
ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่เกิน 1,800,000 บาท ตามหนังสือที่ กค 0702/พ/934 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2551
5. สำหรับการนับจำนวนมูลค่าของรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการที่ไม่ได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มว่าเกิน 1,800,000 บาทต่อปี นั้นให้นับสำหรับรายรับที่เกิดขึ้นในแต่ละปี (กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้นับเป็นแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี) ถ้ามีรายรับไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวในปีใดก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าพิ่ม ส่วนปีต่อไปก็เริ่มนับใหม่ กล่าวคือให้นับเป็นปีๆ ไป
ที่มา : เอกสารภาษีอากร ประจำเดือน ตุลาคม 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น